นิทรรศการที่รวมเอาคนที่มีอาการ "จุก" กับความอึดอัดของเสรีภาพที่สูญหายไปจากสังคมไทยที่เป็นสังคมเผด็จการในคราบประชาธิปไตย
ผลงานทั้ง 20 ชิ้นขนาดไม่ใหญ่นักในพื้นที่จำกัดไม่ปรากฎชื่อผลงาน มีเพียงบอกแค่ผลงานชิ้นไหนเป็นของใคร การเขียน wall text มีความดิบหยาบอย่างจงใจ สูจิบัตรงานไม่ปรากฎ มีเพียง box set กล่องสีแดงมีปั๊มตรา "จุก" บนกล่องที่ตั้งไว้กลางห้อง และ box set อีก 99 กล่องที่ถูกจัดวางไว้ซ้อนกันในแนวตั้งคล้ายสัญญะบางอย่างที่มุมห้องจัดแสดง
ศิลปินกลุ่ม "จุก" พยายามสร้างวิธีการใหม่ให้กับสูจิบัตรของพวกเขาด้วยการทำให้สูจิบัตรทั้งเล่มบรรจุผลงานจริงของศิลปินทุกคนที่จัดแสดง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ศิลปินทุกคนต้องสร้างผลงานขึ้นมาถึง 100 ชิ้น เพื่อนำมาใส่ลงในกล่อง box set ขนาด 31 x 31 ซม. และนั่นเป็นที่มาของขนาดผลงานโดยรวมทั้งนิทรรศการ
จากรายชื่อศิลปินที่ผนังทางเข้านิทรรศการทั้ง 20 คนประกอบไปด้วยคนทำงานศิลปะที่หลากหลายในวิธีการนำเสนอที่มีความเฉพาะตัว
ผลงานของ อุทิศ เหมะมูล ถูกติดตั้งไว้บนผนังทางเข้าในระยะที่สูง ทั้งสองภาพสร้างขึ้นจากเศษหนังสือพิมพ์ในชีวิตประจําวันและถูกระบายทับด้วยสีและฉาบหน้าด้วยตัวอักษร
ผลงานของขวัญชัยเป็นกรอบรูปตั้งโต๊ะสำเร็จรูป 4 ชิ้น ภายในถูกแบ่งเป็นช่องเล็กๆและระบายสีเป็นตัวอักษรที่อ่านปกติและเป็นคำสลับกลับด้าน เขากำลงตั้งคำถามกับวาทกรรมคนดี
ผลงานของ อาจิณโจณาธาน อาจิณกิจ เป็นภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนสองภาพที่มีความเหลื่อมซ้อนอย่างจงใจในทางเทคนิค ข้อความในผลงานคือความเลือนลางของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ผลงานของ ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์ ใช้การทำสำเนาและพิมพ์ซ้ำภาพต้นแบบธงชาติลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวท่ามกลางทำนองของเพลงชาติที่ขับขานควบคู่ไปกับเสียงเครื่องปริ้นท์ ภาพของธงชาติที่เลือนลางค่อย ๆ ชัดขึ้นเรื่อย ๆ และดำเนินต่อไปจนกระดาษและเครื่องปริ้นท์ไม่สามารถรองรับการพิมพ์ซ้ำได้อีก กระบวนการทั้งหมดกำลังนำเสนอการผลิตซ้ำอุดมการณ์หลักของชาติ
ผลงานของ ชัยวัช เวียนสันเทียะ เป็นภาพปริ้นท์จากภาพถ่ายที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเมมโมรี่เก่าจากร้านมือสอง ภาพที่ปรากฏจะถูกซ้อนทับคล้ายการรีทัชซึ่งสื่อไปถึงการปกปิดซ่อนเร้น เขากำลังตั้งคำถามไปที่เหตุการณ์การสูญหายไปของคนหลายคนที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐ
ผลงานของ สินา วิทยวิโรจน์ นำเสนอภาพผลรวมใบหน้าของผู้ก่อการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 13 คนเป็นภาพเดียวกันในชื่อภาพ "13 Reasons Why"
ผลงานของ วนะ วรรลยางกูล มองย้อนกลับไปในอดีตสำรวจการใช้อำนาจของจอมเผด็จการนโปเลียนและตั้งคำถามถึงความพิกลพิการในการใช้อำนาจเหล่านั้น
ผลงานของ วีรยุทธ์ โพธิ์ศรี นำเสนอฟ้อนท์ชังชาติในกลิ่นอายแบบไทยประเพณีที่แสนคุ้นเคย
"Blind" ผลงานของ วิทวัส ทองเขียว ใช้การพิมพ์เบรลล์บนกระดาษสีน้ำเงินในกรอบกระจกที่ไม่ให้สามารถสัมผัสได้ ซึ่งทำให้นึกไปถึงวรรณกรรมของ เอช จี เวลส์ อย่าง The Country of the Blind
"จุกแลนด์" ผลงานของ ประกิต กอบกิจวัฒนา เป็นภาพสีน้ำมัน portrait บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยจำนวน 4 ชิ้นในรูปลักษณ์แบบประธานเหมา เจ๋อตง ผลงานชิ้นนี้ถูกติดตั้งในตำแหน่งตรงกลางห้องจัดแสดงและสูงที่สุดกว่าผลงานทุกชิ้น
.
"ความฝันของวินสตัน" ผลงานของ พรภพ สิทธิรักษ์ เป็นข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ "ในขณะหนึ่งชายอีกคนหนึ่งเดินมาหาเขาและบอกกับเขาว่าเราจะเจอกันอีกในที่ที่ปราศจากความมืด" ข้อความดังกล่าวเป็นคำพูดจากชายปริศนาที่พูดกับวิลสตัน เป็นความฝันที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข้อความดังกล่าวถูกนำมาพิมพ์ในลักษณะภาพพิมพ์นูน (engraving) เพื่อให้ข้อความดังกล่าวเกิดเป็นปริมาตรที่มองเห็นได้เมื่อถูกแสงมากระทบ
ผลงานของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เป็นชิ้นส่วนของภาพ painting ขนาดใหญ่ที่ถูกแยกย่อยในรูปของชิ้นตัวต่อจิ๊กซอร์ขนาดเล็ก แพ็คใส่ถุงๆละสิบชิ้น จากจำนวนทั้งหมด 100 ถุง เราจะเข้าใจ "absolute power" ตามชื่องานได้ก็ต่อเมื่อค้นหาปริศนาจากชิ้นส่วนทั้งหมดครบถ้วนซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
"Footnote" ไลลา พิมานรัตน์ สร้างผลงานขึ้นมาจากเชิงอรรถท่อนสำคัญจากหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยนำเสนอภาพแทนเชิงอรรถนั้นด้วยตัวอักษรสีเหลือง และติดตั้งชิ้นงานในระดับต่ำตามตำแหน่งจริงของเชิงอรรถนั้น
ผลงาน กัมปนาท สังข์สร สร้างจากเทคนิค digital painting ขาวดำ ภายในภาพประกอบด้วยหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วมท่ามกลางบรรยากาศความระยิบระยับของปลาตะเพียนสานในชื่อ "มหรสพในโรงทาน"
ผลงานของ ธนวัฒน์ นำเจริญ เป็นโปสการ์ด "ส.ค.ส. ส่งความสุข" 2563 ขนาดเล็ก ธนวัฒน์ใช้ตัวเองแสดงภาพแทนชาวนาจูงควายเพื่อตั้งคำถามและชวนคิดถึงภาพจำที่เรามีต่อชาวนาและอาจเลยเถิดไปจนถึง myth ที่มาพร้อมกับความเป็น ส.ค.ส. ด้วยข้อความ Simple life is perfect life
ผลงานของ วัชรานนท์ สินธ์วราวัฒน์ เป็นภาพถ่ายงานจัดวางตุ๊กตาทหารพลาสติกขนาดเล็กเต็มพื้นจนกลืนไปกับสนามหญ้าสีเขียว การดำรงอยู่ของบางสิ่งอาจกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันจนเราไม่รู้สึกตัว
"'เพลงรักนักเรียนประถม (Cruicifixion)" ผลงานของธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาที่ไร้คุณภาพที่ทำให้ "จุก" ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านบทเพลงร่วมสมัยที่ถูกถอดความเนื้อเพลงในแบบฉบับใหม่ลงบนกระดาษสมุดของเด็กด้วยลายมือที่ซื่อตรง กระดาษแผ่นนี้ถูกติดตั้งในระดับความสูงของเด็ก ราว 120 ซม.จากพื้น และถูกตรึงด้วยหมุดกระจายทั่วทั้งแผ่น
ผลงาน "Dead space in my Head" ของ สาธิต รักษาศรีเป็นผ้าผืนใหญ่แขวนยาวลงมาจากเพดานของแกลเลอรี่ เบื้องล่างตรงปลายผ้ามีถุงใส่เศษธนบัตรที่ถูกย่อยทำลายเป็นเศษเล็กเศษน้อย เขาอธิบายด้วยวลีลอยๆว่า
Dead space in my Head
Dead space in my Heart
Dead space in my Mind
ปัญจพล นาน่วม เป็นผลงานติดตั้งบนผนังรูปนิ้วสีขาว บริเวณตรงปลายนิ้วมีวัตถุขนาดเล็กสีทองติดอยู่ เขาอธิบายว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเหมืองแร่ เมื่อเราใช้ชีวิต ออกไปเผชิญโลก หลังกลับมาและชำระล้างร่างกายสิ่งที่ได้กลับคืนมาคือ "อัญมณีอันเลอค่า"
"CITIZEN" ผลงานของ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง เป็นการ์ดเล็กๆที่เมื่อสำรวจใกล้ๆจะพบว่ามันคือบัตรประชาชน แต่เขาสร้างกลไกให้สามารถพับออกมาเป็น USB ได้ ข้างในบรรจุเพลงไว้ทั้งหมดสิบเพลงจากเสียงกระสุน ID card เป็นสิ่งกำหนดตัวตนของประชาชนโดยรัฐ หากแต่เวลาประชาชนเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมีเรากลับไม่มีตัวตน
ผลงานของศิลปินกลุ่ม "จุก" จะจัดแสดงจนถึงวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม ที่ Cartel Artspace นราธิวาสราชนครินทร์ 22
ติดตามรายละเอียดอีเว้นท์ต่างๆของกลุ่มได้ที่ fb. https://www.facebook.com/124546422279292/posts/167495591317708/
*สนใจติดต่อ Art Box รวบรวมผลงานชิ้นจริงกล่องสีแดงของศิลปินกลุ่ม "จุก" ได้ที่ inbox นี้